วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

วันมาฆบูชา

มาฆบูชา
มาฆบูชา เป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นวันเกิดพระธรรม ถือว่าเป็นวันที่ พระพุทธเจ้า ได้ประกาศ หลักธรรม คำสั่งสอนของพระองค์ เพื่อให้พระอรหันต์ทั้งหลาย ที่มาประชุมกันในวันนั้น นำไปเผยแผ่
วัน มาฆบูชา เป็นวันบูชาพิเศษที่ต้องทำในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือในวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ( ซึ่งโดยปกติทำกันในกลางเดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด ก็เลื่อนไปกลางเดือน ๔ )ถือกันว่าเป็นวันสำคัญ เพราะวันนี้ เป็นวันคล้ายกับ วันประชุมกันเป็นพิเศษ แห่งพระอรหันตสาวก โดยมิได้มีการนัดหมาย ซึ่งเรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งได้มีขึ้น ณ บริเวณเวฬุวันมหาวิหาร หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นเวลานับได้ ๙ เดือน
วันนี้เอง ที่พระพุทธองค์แสดง "โอวาทปาฎิโมกข์" ซึ่งถือกันว่า เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ
๑. วันนั้น เป็นวันมาฆปูรณมี คือวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือนมาฆะ จึงเรียกว่า มาฆบูชา
๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย (สาเหตุของการชุมนุม)
๓. พระภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ ประเภทฉฬภิญญา คือ ได้อภิญญา ๖
๔. พระภิกษุ เหล่านั้น ทั้งหมด ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง (เอหิภิกฺขุอุปสมฺปทา)
โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึง จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ของพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน
๑. จุดหมายของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน (นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา)
๒. หลักการของพระพุทธศาสนา คือ ต้องมีความอดทน ในการฝึกตนเอง เพื่อบรรลุจุดหมาย (ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา) ต้องประกอบด้วย
ก. ไม่ทำความชั่วโดยประการทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ (สพฺพปาปสฺส อรกณํ)
ข. ทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ (กุสลสฺสูปสมฺปทา) การไม่ทำความชั่วนั้น จะเรียกว่า เป็นคนดียังไม่ได้ การเป็นคนดี จะต้องทำความดี ทั้งทางกาย วาจา ใจ มิฉะนั้นแล้ว คนปัญญาอ่อน คนเป็นอัมพาต เป็นต้น ก็จะเป็นคนดีไปหมด
ค. การชำระจิตใจให้สะอาด ผ่องใส สงบ (สจิตฺตปริโยทปนํ)
๓. วิธีการที่จะบรรลุจุดหมาย คือ ต้องฝึกอบรมตนแบบต่อเนื่อง ให้เกิดมรรคสามัคคี คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ** รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๘ เกลียว หรือให้มี ศีล สมาธิ และปัญญา รวมพลังกัน เหมือนเชือก ๓ เกลียว พัฒนากาย วาจา ใจ ให้พูดดี ทำดี คิดดี ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ ราคะ โมสะ โมหะ ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลส ตัณหา หรือความใคร่ ความอยากมี อยากเป็น แบบมืดบอด ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ที่มันเป็นไปไม่ได้ เช่น ไม่อยากเป็นคนเสื่อมลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข เป็นต้น โดยอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้.
ก. ฝึกวาจา ระวังเสมอ มิให้กล่าวคำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ (อนูปวาโท)
ข. ฝึกกาย ระวังเสมอมิให้มีการฆ่า ทำลายชีวิต ตลอดจนถึงการเบียดเบียนทางกาย (อนูปฆาโต)
ค. ละเว้นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามไว้ และทำตามข้อที่พระพุทธองค์อนุญาต (ปาฎิโมกฺเข จ สํวโร)
ง. รู้จักประมาณในการบริโภค อาหาร ตลอดจน รู้จักประมาณในการใช้สอยปัจจัย ๔ (มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺสมึ)
จ. ฝึกตนอย่างจริงจัง ในที่ที่สงัดจากสิ่งรบกวน (ปนฺตนฺ จ สยนาสนํ)
ฉ. ภาวนาอยู่เสมอ คือ พัฒนาตนเองให้พ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหา การภาวนา หมายถึง การใช้ทั้งสมาธิ และวิปัสสนา แก้ปัญหา หรือจัดการกับกิเลส (อธิจิตฺเต จ อาโยโค) เป็นการตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ มิให้จิตใจเศร้าหมอง ให้จิตใจผ่องใสอยู่เสมอ (สจิตฺตปริโยทปนํ)
จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้จะเป็นไปด้วยดี และบรรลุวัตถุประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายไว้นั้น พระองค์ได้ย้ำเตือนไว้ว่า จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นอย่างบรรพชิต และเป็นอย่างสมณะ คือ เว้นจากความชั่วทุกประการ และเป็นผู้ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่าง เพื่อระงับบาปอกุศล ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นอริยบุคคล ทั้งไม่เบียดเบียนและไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่คนที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบทั้งหลาย (น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต)
อภิญญา ๖
อภิญญา คือความรู้อันยอดยิ่งมี ๖ ประการได้แก่
๑.แสดงฤทธิ์ได้ (อิทธิวิธิ)
๒.หูทิพย์ (ทิพยโสต)
๓.รู้จักกำหนดใจผู้อื่น (เจโตปริยญาณ)
๔.ระลึกชาติได้ (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ)
๕.ตาทิพย์ (ทิพยจักษุ)
๖.ทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป-คือญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย (อาสวักขยญาณ)







ประวัติ
วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๓ หรือประมาณราวเดือนกุมภาพันธ์ แต่หากเป็นปีอธิกมาส (ปีที่มีเดือน ๘ สองหน) วันมาฆบูชาจะเลื่อนไปเป็น วันขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือน ๔ หรือประมาณเดือนมีนาคม
วันมาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า "มาฆปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓ ถือเป็น "วันจาตุรงคสันนิบาต" แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ ๔ ซึ่งเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกันในสมัยพุทธกาล คือ
๑. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๓. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
๔. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน ๓) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์
โอวาทปาติโมกข์ คือ ข้อธรรมย่ออันเป็นหลักหรือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ๓ ประการ ได้แก่
๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง เว้นจากความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ
๒. ทำความดีให้ถึงพร้อม ด้วยกาย วาจา ใจ
๓. ทำจิตใจให้หมดจดบริสุทธิ์ผ่องใส
การปลงมายุสังขาร
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้และสั่งสอนพระธรรมมาเป็นระยะเวลา ๔๕ ปี พระองค์ทรงปลงมายุสังขาร คือ ตั้งพระทัยว่า "ต่อแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน" การปลงอายุสังขาร ตรงกับวันมาฆบูชาในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ ๘๐ พระชันษา
ด้วยเหตุนี้ ในวันมาฆบูชา ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า รวม ๒ ประการ คือ เป็นวันที่แสดงโอวาทปาติโมกข์ และ เป็นวันปลงอายุสังขาร
ประวัติการประกอบพิธีมาฆบูชา
ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ดังนี้
การมาฆบูชานี้ แต่เดิมก็ไม่ได้เคยทำมา พึ่งเกิดขึ้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตามแบบโบราณบัณฑิตนิยมไว้ว่า วันมาฆบุรณมีพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์ เป็นวันที่พระอรหันต์พุทธสาวก ๑,๒๕๐ ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์สี่ประการ เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงได้ถือเอาเหตุนั้น ประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ พระองค์นั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและสังเวช
การพระราชกุศลนั้น เวลาเช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศน์และวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัดแล้ว จึงได้สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่างๆ เทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพีทั้ง ๓๐ รูป
การมาฆบูชานี้เป็นดือนสามบ้าง เดือนสี่บ้าง ตามวิธีปักษคณนาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่คงอยู่ในดือนสามโดยมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทุกปีมิได้ขาด แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกบ้างไม่ได้ออกบ้าง เพราะมักจะเป็นเวลาประสบกับที่เสด็จประพาสหัวเมืองบ่อยๆ ถ้าฤดูคราวเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสบางประอินหรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็ทรงทำมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากนอกจากในพระบรมมหาราชวังฯ



ภาพ : องค์สมเด็จพระปฐมบรมศาสดา
วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี




การประกอบพิธีเวียนเทียน ในวันมาฆบูชา
การประกอบพิธีในวันสำคัญนี้ แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง คือ
๑. พิธีหลวง (หรือพระราชพิธี)
๒. พิธีราษฎร์
๓. พิธีสงฆ์
การประกอบพระราชพิธี
สำนักพระราชวัง จะมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ในวันมาฆบูชา ออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันทุกปี โดยปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่บางปีจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน
การประกอบพิธีเวียนเทียนในวันมาฆบูชา สำหรับประชาชนทั่วไป
หากเป็นสถานศึกษา ครูอาจารย์จะนำนักเรียนไปประกอบพิธีในวันมาฆบูชาที่วัด โดยบอกกำหนดนัดหมายที่แน่นอน รวมทั้งบอกวัดที่จะไปทำพิธี นักเรียนทุกคนจะต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย นำดอกไม้ธูปเทียน ไปยังสถนที่นัดหมาย ส่วนใหญ่จะจัดพิธีในตอนบ่าย หรือตอนเย็น
สำหรับประชาชนทั่วไป จะจัดเตรียมเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ไปพร้อมกันที่วัด ในเวลาเย็นหรือค่ำ เพื่อประกอบพิธีมาฆบูชา การประกอบพิธีส่วนใหญ่ จะกระทำกันที่โบสถ์ เพราะหลังจากฟังโอวาทและสวดมนต์เสร็จแล้ว จะทำการเวียนเทียนรอบโบสถ์
พิธีสงฆ์
ในวันมาฆบูชา พระสงฆ์จะเป็นผู้นำในการประกอบพิธี มีการให้โอวาท สวดมนต์ และนำในการเวียนเทียน มีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา มีการนั่งสมาธิเจริญภาวนา ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวสุดแต่เห็นสมควร
ข้อปฏิบัติสำหรับชาวพุทธในวันมาฆบูชา ที่ควรทราบมีดังนี้
๑. จัดเตรียมเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน มาพร้อมกันที่วัด ตามเวลานัดหมาย เพื่อฟังโอวาทหรือพระธรรมเทศนา และเวียนเทียน
๒. ก่อนออกจากบ้าน ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส และแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
๓. เมื่อถึงวัดแล้ว ควรอยู่ในอาการสำรวม ไม่พูดคุยหยอกล้อ วิ่งเล่น หรือกระทำภารกิจอื่นอันไม่ควร เช่น เคาะระฆังเล่น จุดดอกไม้ไฟ ฯลฯ
๔. เมื่อถึงเวลาประกอบพิธี ให้ทุกคนไปเข้าแถวหรือเข้าไปในสถานที่กำหนดโดยพร้อมเพรียงกัน
๔. ก่อนเริ่มพิธีเวียนเทียน พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน จะกล่าวให้โอวาท ทุกคนต้องพนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนตั้งใจฟังด้วยความสงบ กล่าวคำสาธุ เมื่อพระสงฆ์ให้โอวาทจบ
๖. ในพิธีสวดมนต์ จะมีผู้กล่าวนำคำบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา และคำบูชาพระรัตนตรัย ให้ทุกคนจุดธูปเทียนประนมมือ กล่าวตามด้วยความเคารพ มีจิตใจยึดมั่น
บทสวดมนต์ในการทำพิธีวันมาฆบูชา มีดังนี้
๑. บทสวดมนต์ไหว้พระบูชาพระรัตนตรัย (บทอรหัง สัมมา ฯ)
๒. บทสวดนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (บทนะโมฯ ๓ จบ)
๓. บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทอิติปิโส ฯ)
๔. บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทองค์ใดพระสัมพุทธ ฯ)
๕. บทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวากขาโต ฯ)
๖. บทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทธรรมมะคือ คุณากร ฯ)
๗. บทสวดสรรเสริญพระสงฆคุณ (บทสุปฏิปันโน ฯ)
๘. บทสวดสรรเสริญพระสงฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯ)
๙. บทสวดพุทธมังคลชยสิทธิคาถา (บทพาหุง ฯ)
๑๐. คำแปลบทสวดพุทธมังคลชยสิทธิคาถา สวดทำนองสรภัญญะ (ปางเมื่อพระองค์ ฯ)
๑๑. บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (อัชชายัง ฯลฯ)
๑๒. คาถาสวดมาฆบูชา
สำหรับบทสวดในข้อที่ ๑๑ และ ๑๒ นั้น ค่อนข้างยาว เวลาทำพิธีจะมีผู้กล่าวนำ หากสนใจรายละเอียดให้ดูในหนังสือมนต์พิธี (หนังสือคู่มือสำหรับสวดมนต์ของพระ)
หลังจากสวดมนต์เสร็จ ประธานในพิธีจะนำเวียนเทียน โดยเริ่มจากพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป หากครูอาจารย์พานักเรียนมาเป็นหมู่คณะในตอนบ่าย ก็จะให้มีการเวียนเทียนกันก่อน
ในการเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์ จะกระทำ ๓ รอบ โดยเวียนไปทางขวา เรียกว่า เวียนแบบทักขิณาวัฏ
ในรอบที่ ๑ ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ
ในรอบที่ ๒ ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ
ในรอบที่ ๓ ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ
๗. ในการเดินเวียนเทียน ต้องทำจิตใจให้มีสมาธิ สงบ และแน่วแน่อยู่กับบทบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ไม่ควรส่งเสียงพูดคุยหรือเดินแซงผู้ที่เดินอยู่ข้างหน้า
๘. เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว ให้นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปวางไว้ในจุดกำหนด เพื่อสะดวกแก่การเก็บทำความสะอาด
๙. หลังจากเสร็จพิธีเวียนเทียนแล้ว ควรช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดบริเวณโบสถ์ให้เรียบร้อย แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความสงบอิ่มเอมใจ หรืออยู่ร่วมพิธีอื่นๆ ที่ทางวัดจัดให้มีขึ้น
(ในการประกอบพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา ก็ให้ถือปฏิบัติตามนี้)
ข้อเสนอแนะ ในวันมาฆบูชา
- ควรออกมาทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้า
- ตั้งใจรักษาศีลห้าให้ครบถ้วน อย่างน้อยก็ให้รักษาไว้ตลอดทั้งวัน
- และในตอนเย็น ควรไปร่วมพิธีเวียนเทียน เพื่อสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทย เป็นการร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา
- ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษา และที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยายฉายสไลด์ หรือบรรยายธรรม เกี่ยวกับวันมาฆบูชา ฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจ


วันนี้ตรงกับ วันอังคารที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ปีพระพุทธศักราช ๒๕๕๑


-------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น: